รายงานฉบับใหม่ระบุว่าประชากรหมีขั้วโลกในอ่าวฮัดสันที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดาลดลง 27% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
โดยทุก ๆ ฤดูใบไม้ร่วง ฝูงหมีจะอาศัยอยู่ตามริมอ่าวฮัดสันทางฝั่งตะวันตกซึ่งผ่านไปยังเมืองเชอร์ชิลล์ในแถบอาร์กติก รัฐแมนิโทบา การย้ายถิ่นฐานประจำปีทำให้หมีที่อยู่ในบริเวณนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกศึกษาค้นคว้ามากที่สุดในโลก และการดูหมีของนักท่องเที่ยวก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่นประมาณปีละ 5.3 ล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว
แต่รายงานล่าสุดโดยรัฐบาลนูนาวุตซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของแคนาดาพบว่ามีหมีขั้วโลกเพียง 618 ตัวที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ในปี 2021 ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนของประชากรหมีที่ลดลงถึง 50% จากช่วงปี 1980
ทั้งนี้ หมีขั้วโลกต้องอาศัยน้ำทะเลที่แข็งตัว หรือน้ำแข็งทะเล เพื่อช่วยในการล่าแมวน้ำเป็นอาหาร แต่ตอนนี้อาร์กติกมีอากาศอบอุ่นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกประมาณสี่เท่า โดยบริเวณรอบ ๆ อ่าวฮัดสัน น้ำแข็งทะเลตามฤดูกาลจะละลายเร็วขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ และจะก่อตัวขึ้นใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้หมีต้องอยู่โดยปราศจากอาหารนานขึ้น
จอห์น ไวท์แมน (John Whiteman) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์วิจัยของกลุ่มอนุรักษ์หมีขั้วโลก ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า การลดลงของประชากรหมีนี้เป็นเรื่องที่ "น่าตกใจอย่างยิ่ง" และว่านักวิทยาศาสตร์ต่างกังวลว่าหากไม่สามารถยับยั้งการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลอย่างต่อเนื่องได้ ก็จะนำไปสู่การสูญเสียประชากรหมีขั้วโลกในพื้นที่ทั้งหมดไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการลดลงของประชากรหมีกับการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลในอ่าวฮัดสันนั้นยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นเพราะสี่ในห้าปีที่ผ่านมามีสภาพน้ำแข็งที่ดีพอสมควร ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดจากสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทะเลในท้องถิ่นอาจทำให้จำนวนหมีขั้วโลกลดลง
นอกจากนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังมีความกังวลเนื่องจากอัตราการลดลงของประชากรหมีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยประชากรหมีขั้วโลก 19 สายพันธุ์ที่กระจายอยู่ในรัสเซีย อลาสกา นอร์เวย์ กรีนแลนด์ และแคนาดา แต่อ่าวฮัดสันตะวันตกเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางใต้สุด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหมีที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มแรกที่สูญหายไป
การศึกษาในปี 2021 ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Climate Change ระบุว่าประชากรหมีขั้วโลกส่วนใหญ่ของโลกกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการล่มสลายภายในปี 2100 หากทั่วโลกยังไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างจริงจัง
นักวิจัยกล่าวด้วยว่าจำนวนการตายของหมีที่อายุยังน้อยและหมีตัวเมียในอ่าวฮัดสันตะวันตกนั้น เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล สตีเฟน แอทคินสัน (Stephen Atkinson) หัวหน้าผู้เขียนรายงานของรัฐบาล ซึ่งศึกษาประชากรหมีขั้วโลกมานานกว่า 30 ปีกล่าวว่า “หมีเหล่านี้คือกลุ่มที่เราคาดการณ์เอาไว้เสมอว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
สำหรับหมีที่อายุยังน้อย พวกมันต้องการพลังงานในการเจริญเติบโตและไม่สามารถอยู่รอดได้เป็นเวลานานหากไม่มีอาหารเพียงพอ ส่วนหมีตัวเมียก็ต้องดิ้นรนเพราะใช้พลังงานจำนวนมากในการดูแลลูก ๆ ของพวกมัน
แอทคินสันกล่าวส่งท้ายว่า อัตราการสืบพันธุ์ของหมีขั้วโลกในอ่าวฮัดสันจะลดลง “เพราะหมีอายุน้อยที่อยู่รอดจนโตเต็มวัยนั้น มีจำนวนลดลง”
ที่มา: เอพี
- READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Fri, 20 Jan 2023 03:26:46 +0700