ชื่อของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ชื่อเมืองใหญ่ในยูเครน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอิตาลีที่เป็นกระแสไวรัลในปีนี้ ติดอันดับคำศัพท์อ่านยากแห่งปี 2022 ตามรายงานของเอพี
การจัดอันดับคำศัพท์ที่ผู้คนอ่านออกเสียงผิดมากที่สุดแห่งปี 2022 โดย U.S. Captioning Company บริษัทที่ดูแลเรื่องการวางข้อความคำบรรยายแบบเรียลไทม์ในรายการโทรทัศน์ ร่วมกับ Babbel แพลตฟอร์มเรียนภาษา ที่มีสำนักงานใหญ่ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ และกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ร่วมกันรวบรวมคำศัพท์ที่ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ยกให้เป็นคำศัพท์ที่ท้าทายทักษะการอ่านออกเสียงต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว
ในปีนี้ ชื่อของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) ซึ่งแม้กระทั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยังเคยอ่านชื่อผู้นำอังกฤษที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมผิดไปในสุนทรพจน์แสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งของนายกฯ อังกฤษ โดยเคยเรียกผิดไปเป็น “ราชีด ซานูค” (Rasheed Sanook) มาแล้ว
อีกคนที่เพิ่งเฉลยการออกเสียงชื่อของตัวเอง คือ ศิลปินหญิงชาวอังกฤษ อะเดล (Adele) ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม เธอได้ออกมาบอกแฟน ๆ ในอเมริกาว่าพวกเขาอ่านชื่อเธอผิดมาตลอด โดยบอกว่าต้อง อะ-เดล (uh-DALE) แบบติดสำเนียงคนลอนดอนหน่อย ๆ
คำศัพท์ที่ท้าทายผู้ประกาศข่าวชาวอเมริกันอีกคำหนึ่ง คือ เอดินบะระ (Edinburgh) ระหว่างช่วงพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีคลิปไวรัลที่นักท่องเที่ยวอเมริกันถูกแก้ไขการออกเสียงชื่อเมืองดังกล่าวว่า เอ-ดิน-บรา (ed-in-BRUH) จนกลายเป็นไวรัลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
อีกเมืองที่ได้รับการพูดถึงบ่อยและออกเสียงยาก คือ ซาปอริซห์เชีย (Zaporizhzhia) ที่เป็นทั้งชื่อเมืองและชื่อเขตปกครอง อันเป็นพิกัดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางตะวันออกเฉียงใต้แห่งยูเครน
ถัดมาที่วงการกีฬา ชื่อของโนวัค โยโควิช (Novak Djokovic) ที่เป็นประเด็นจากการถูกส่งตัวออกจากออสเตรเลียและไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียนโอเพ่นได้ เพราะประเด็นไม่เข้ารับวัคซีนโควิด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักกีฬาเบสบอลที่คว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าเมื่อปี 2021 โชเฮย์ โอทานิ (Shohei Ohtani)
ปิดท้ายที่เครื่องดื่มจากแดนมักโรนีที่กลายเป็นไวรัล จากบทสัมภาษณ์นักแสดงซีรีส์ House of the Dragon ที่พูดถึงเครื่องดื่มสุดโปรด นามว่า Negroni sbagliato (อ่านว่า เน-โกร-นี-สปา-ลี-อา-โต) โดยคลิปสัมภาษณ์ดังกล่าวมีผู้ชมกว่า 14 ล้านครั้ง และถูกนำไปทำคลิปไวรัลอื่น ๆ บนแพลตฟอร์ม TikTok ด้วย
เอสตาบัน โทว์มา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและอาจารย์จาก Babbel บอกว่า ผู้คนมักกังวลเกี่ยวกับการอ่านชื่อภาษาต่างประเทศผิดไปก็จริง แต่การได้เห็นชื่ออ่านยากในข่าว “แสดงให้เห็นถึงหนทางในการสื่อสารกับคนต่างชาติต่างภาษา และให้มุมมองถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก รวมทั้งวิธีที่ผู้คนเชื่อมต่อกับคนต่างชาติในเวลาเดียวกัน”
ที่มา: เอพี
- READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Thu, 29 Dec 2022 03:49:41 +0700