Search
 
NEWS
 

มาเลเซียสั่งฟ้องผู้ต้องหาชาวไทยคดีลักลอบพาคนเข้าเมือง-หลุมฝังศพหมู่

 
 
ทางการมาเลเซียยื่นฟ้องผู้ต้องหาชาวไทย 4 คนในวันศุกร์ ภายใต้อำนาจกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ จากกรณีเกี่ยวกับการค้นพบหลุมศพหมู่จำนวนมากเมื่อปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเชื่อว่า เป็นที่ฝังร่างของผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮีนจาและชาวบังคลาเทศที่มาหลบซ่อนอยู่ในค่ายหลายแห่งในพื้นที่ป่าเขาแถบชายแดนมาเลเซีย-ไทย ไซฟุดดิน นาซูติยน อิสมาอิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนนั้นอยู่ในกลุ่มชาวไทย 10 คนที่รัฐบาลมาเลเซียต้องการให้ฝ่ายไทยส่งตัวมาให้ดำเนินคดีตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2017 ในคดีเกี่ยวกับการค้นพบหลุมศพหมู่ในพื้นที่หมู่บ้านวังเกลียน (Wang Kelian) รัฐเปอร์ลิซ (Perlis) ทางเหนือของมาเลเซีย ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องเขย่าขวัญคนทั้งประเทศ   รมต.ไซฟุดดิน กล่าวด้วยว่า ด้วยความร่วมมือกับทางการไทย เจ้าหน้าที่สามารถจำกุมชาย 4 คนนี้ได้และส่งตัวมายังมาเลเซียในวันพฤหัสบดีเพื่อรับฟังข้อหา เมื่อปี ค.ศ. 2015 ตำรวจมาเลเซียประกาศการค้นพบค่ายหลายแห่งที่ถูกทิ้งร้างโดยขบวนการค้ามนุษย์ในเขตหมู่บ้านวังเกลียน ก่อนจะขุดพบเจอศพคนจำนวน 139 คนในหลุมฝังศพหมู่ในบริเวณเดียวกัน โดยก่อนหน้านั้น ตำรวจไทยก็เพิ่งขุดพบเจอศพ 36 ศพในพื้นที่ชายแดนไทย การค้นพบดังกล่าวเป็นจุดกำหนดของการเปิดโปงเครือข่ายปฏิบัติการของกลุ่มลักลอบขนคนที่จับตัวผู้อพยพมากักขังเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่จากครอบครัวของคนเหล่านั้นที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว โดยพวกที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์นี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หลบหนีเงื้อมมือของทางการเมียนมา หรือไม่ก็ผู้อพยพชาวบังคลาเทศแสนยากจนที่ต้องการหลบหนีออกจากบ้านเกิดไปหาชีวิตที่ดีกว่า รายงานข่าวระบุว่า ชายผู้ต้องหาทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธนำตัวไปยังศาลในรัฐเปอร์ลิซ เพื่อรับฟังข้อหาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิด ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ New Straits Times และ The Star รายงานว่า ทั้ง 4 คนที่มีอายุตั้งแต่ 30 ถึง 58 ปี ถูกตั้งข้อหาว่าทำการลักลอบค้าชาวเมียนมา 2 คนในพื้นที่วังเกลียน ขณะที่ ไม่มีรายงานการบันทึกว่า ผู้ต้องหายอมรับหรือปฏิเสธที่จะยอมรับผิดหรือไม่ แต่ทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และคดีนี้จะถูกส่งต่อไปยังศาลสูงเพื่อไต่สวนต่อไป   ที่ผ่านมา มาเลเซียสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่างชาติจำนวน 5 คนในข้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่วังเกลียนไปแล้ว ขณะที่ ฝ่ายไทยก็ได้ตัดสินลงโทษจำคุกผู้ต้องหา 62 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน จากความผิดในคดีอาชญากรรมค้ามนุษย์เช่นกัน รายงานร่วมโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียและกลุ่ม Fortify Rights ที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2019 ชี้ว่า มีช่องว่างในการสืบสวนคดีดังกล่าวและน่าจะมีความพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรมด้วย พร้อมระบุว่า ทางการมาเลเซียรับรู้เกี่ยวกับค่ายค้ามนุษย์ที่ว่า และทำการบุกค้นมาแล้ว ทั้งยังพบเหยื่อค้ามนุษย์ถูกกักขังอยู่เป็นเวลาหลายเดือนด้วย แต่การขุดหาศพนั้นเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นนานพอควร โดยไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมขั้นตอนดังกล่าวถึงล่าช้าแม้จะมีการบุกค้นไปสักพักแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์เพื่อสรุปสาเหตุของการเสียชีวิตทำได้ไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการสืบสวนของมาเลเซียที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมารายงานว่า  ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ข้าราชการ หรือชาวบ้านของมาเลเซียเกี่ยวข้องกับกระบวนการลักลอบค้ามนุษย์หรือองค์การลักลอบขนผู้อพยพใด ๆ แต่ตรวจพบความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานของหน่วยลาดตระเวณชายแดน ทั้งยังระบุด้วยว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของมาเลเซียล้มเหลวในการทำตามขั้นตอนปฏิบัติการมาตรฐานซึ่งส่งผลกระทบต่อการสืบสวนอย่างมาก   ที่มา: เอพี - READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Sat, 24 Jun 2023 01:17:01 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
1+8 =