แอปพลิเคชั่นยอดนิยม ‘ติ๊กตอก’ (TikTok) ของบริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) จากประเทศจีน ประกาศในวันพฤหัสบดีว่า จะเดินหน้าทำการลงทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามแผนงานยกระดับการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ ท่ามกลางการจับตาจากทั่วโลกเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านข้อมูลของแอปนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรรวมกันราว 630 ล้านคนโดยราวครึ่งหนึ่งนั้นมีอายุไม่ถึง 30 ปี คือ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของติ๊กตอก ในแง่ขอจำนวนผู้ใช้งาน โดยมีความสามารถดึงดูดคนเข้ามาชมคลิปวิดีโอสั้นผ่านแอปนี้ได้ถึงเดือนละกว่า 325 ล้านคน
อย่างไรก็ดี รอยเตอร์ชี้ว่า ‘ติ๊กตอก’ ยังไม่สามารถแปลงฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่นี้ให้กลายมาเป็นแหล่งรายได้สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจาก ภาวะการแข่งขันอันดุเดือดจากคู่แข่งรายใหญ่ เช่น ช้อปปี้ (Shoppee) หรือ อาลีบาบา (Alibaba) และ ลาซาด้า (Lazada) รวมทั้ง โทโกพิเดีย (Tokopedia)
ระหว่างการร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะว่าด้วยผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของแอปยอดนิยมนี้ในภูมิภาคอาเซียน ที่จัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โจว โช่ว ซือ ซีอีโอของติ๊กตอก ระบุว่า “เราจะลงทุนเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า”
ทั้งนี้ ติ๊กตอกไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแผนการใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ว่า และกล่าวเพียงว่า จะเป็นการลงทุนในส่วนงานอบรม โฆษณา และการสนับสนุนผู้ค้ารายย่อยที่กำลังเตรียมเข้าร่วมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ‘ติ๊กตอก ช้อป’ (TikTok Shop)
โจว กล่าวด้วยว่า เนื้อหาบนแพลตฟอร์มนี้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเก่า จากการที่บริษัทเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานเรื่อย ๆ และปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้เป็นมากกว่าการลงโฆษณาโดยขยายไปยังส่วนอีคอมเมิร์ซ ด้วยการเปิดทางให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าผ่านลิงค์ในแอปที่ปรากฏขึ้นระหว่างการสตรีมมิ่งสดได้
ซีอีโอติ๊กตอกเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานอยู่ในอาเซียนราว 8,000 คน โดยมีผู้ค้ารายย่อยราว 2 ล้านคนขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มนี้ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Momentum Works ระบุว่า มูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียนในปีที่แล้วอยู่ที่เกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ โดยราว 52,000 ล้านดอลลาร์นั้นมาจากอินโดนีเซีย
ติ๊กตอกประกาศแผนขยายการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ บริษัท ไบต์แดนซ์ กำลังตกเป็นเป้าการตรวจสอบจากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับกิจการของหลายประเทศ เนื่องจากประเด็นความกังวลว่า กรุงปักกิ่งอาจใช้แอปนี้เป็นที่รวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานหรือเพื่อประโยชน์ของตน แม้ติ๊กตอกจะปฏิเสธอย่างต่อเนื่องว่า ตนไม่ได้แชร์ข้อมูลกับรัฐบาลจีน และจะไม่มีวันทำเช่นนั้น ถึงจะถูกร้องขอก็ตาม
ที่ผ่านมา บางประเทศ เช่น อังกฤษและนิวซีแลนด์ สั่งห้ามการใช้แอปนี้บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของราชการแล้ว ขณะที่ ยังไม่มีรัฐบาลในอาเซียนที่สั่งห้ามการใช้แอปนี้บนอุปกรณ์ของราชการ แต่ก็มีการตรวจสอบเนื้อหาอยู่บ้าง
ที่มา: รอยเตอร์
- READ MORE
By thai@voanews.com (Reuters)
Fri, 16 Jun 2023 02:01:13 +0700