ผลพวงจากการล็อกดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้น้ำหนักตัวของเหล่าทหารอเมริกันพุ่งสูงขึ้น และการศึกษาล่าสุดชี้ว่า 25% ของกำลังพลอเมริกันเผชิญกับภาวะโรคอ้วนแล้ว
สิบโทดาเนียล มูริลโล แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ วัย 27 ปี เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้นถึง 14 กิโลกรัม และตอนนี้เขาต้องการกลับมามีหุ่นที่ดีอีกครั้ง
ในช่วงล็อกดาวน์ระยะแรกของการเกิดโรคระบาด สิบโทมูริลโลต้องทำงานผ่านหน้าจออย่างไม่มีเวลาสิ้นสุด ความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการรับประทานอาหาร อย่างเช่น เลือกทานคุกกี้และขนมขบเคี้ยวที่อยู่ใกล้มือ สถานที่ออกกำลังกายต้องปิดตัวลงช่วงโควิด ตารางการออกกำลังกายของเขาไม่เหมือนเดิม และแรงจูงใจที่จะออกกำลังกายด้วยตนเองก็มีน้อยลงไป
สิบโทมูริลโล มีส่วนสูงอยู่ที่ 170 เซนติเมตร และน้ำหนัก 87 กิโลกรัม เขาเผยว่า “สังเกตเห็นได้ว่า ชุดเครื่องแบบที่ใส่อยู่แน่นมากขึ้น”
สิบโทมูริลโลไม่ใช่ทหารเพียงนายเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น การวิจัยครั้งใหม่พบว่าโรคอ้วนในกองทัพสหรัฐฯ เนื่องจากช่วงการระบาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น เฉพาะในกองทัพบก ทหารประจำการจำนวนเกือบ 10,000 นายถูกพบว่าเป็นโรคอ้วนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2021 ทำให้กล่าวได้ว่าเกือบ 1 ใน 4 ของกำลังพลที่อยู่ในการศึกษานี้กำลังอยู่ในภาวะโรคอ้วน การเพิ่มขึ้นนี้ยังพบได้ในกองทัพเรือสหรัฐฯ และนาวิกโยธินอีกด้วย
เทรซีย์ เปเรซ โคห์ลมูส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบริการสุขภาพแห่ง Uniformed Services University ในเมืองเบเธสดา รัฐแมริแลนด์ หัวหน้าการวิจัยนี้ ชี้ว่า “กองทัพบกและหน่วยงานอื่น ๆ จำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นหาวิธีที่จะทำให้กำลังพลกลับมามีสมรรถภาพร่างกายที่สมบูรณ์”
การวิจัยของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ทหารที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่จะได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งร่างกายยังไม่แข็งแรงพอสำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งด้านกายภาพ รายงานยังระบุว่า เนื่องจากปัญหาของกำลังพลที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ในแต่ละปี ทำให้กองทัพสูญเสียวันทำงานมากกว่า 650,000 วัน และยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน มูลค่ามากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับพลทหารที่ยังปฏิบัติหน้าที่ อดีตทหาร รวมถึงครอบครัวของพวกเขา
โคห์ลมูส บอกว่าจะต้องรอจนถึงปลายปี กว่าที่เราจะได้ข้อมูลที่ใหม่กว่านี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่ชี้ว่า แนวโน้มดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ซึ่งตอกย้ำถึงความกังวลที่มีมาอย่างยาวนาน ด้านความพร้อมของกองกำลังทหารสหรัฐฯ
พันเอกสตีเฟน เชนีย์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ผู้ร่วมเขียนรายงานล่าสุด กล่าวว่า ผู้นำกองทัพได้เตือนเกี่ยวกับผลกระทบของโรคอ้วนต่อกองทัพสหรัฐฯ มานานกว่าทศวรรษ แต่ผลกระทบจากโรคระบาดที่ยืดเยื้อ เป็นการย้ำว่าจะต้องดำเนินการต่อปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
พันเอกเชนีย์กล่าวในการสัมมนาทางเว็บไซต์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่จัดขึ้นโดย American Security Project หน่วยงานคลังสมองที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยระบุว่า ตัวเลข (ด้านปัญหาความอ้วน) ไม่ได้ปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีแต่จะแย่ลง แย่ลงเรื่อย ๆ
ในปีงบประมาณของปี 2021 กองทัพบกรับสมัครกำลังพลได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นครั้งแรก โดยรับสมัครต่ำกว่าเป้าไปถึง 15,000 นาย หรือคิดเป็น 1 ใน 4 จากเป้าหมาย เหตุผลเนื่องมาจาก 3 ใน 4 ของชาวอเมริกันอายุ 17 ถึง 24 ปี มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพได้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือปัญหาน้ำหนักที่เกินกว่ามาตรฐาน ตามรายงานชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุด ที่ทำให้ 1 ใน 10 ของผู้สมัครที่มีโอกาสสมัครเข้ามาเป็นทหารไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก
เชนีย์กล่าวว่า “มันกำลังสร้างความเสียหาย เรามีปัญหาด้านความมั่นคงแห่งชาติอย่างมาก”
โคห์ลมูสและทีมของเธอได้วิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์สำหรับทหารกองทัพบกที่ปฏิบัติหน้าที่จากฐานข้อมูลระบบสุขภาพทหาร โดยดูจากสองช่วงเวลา ช่วงแรกคือก่อนเกิดโรคระบาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2019 ถึงเดือนมกราคม 2020 และช่วงที่สองระหว่างที่เกิดวิกฤตสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ถึงเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งไม่นับรวมทหารที่ไม่มีประวัติสุขภาพครบถ้วน และผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงก่อนหรือระหว่างการศึกษา
นักวิจัยพบว่า ในข้อมูลของกลุ่มทหารเกือบ 200,000 นาย เกือบ 27% ของทหารกลุ่มที่มีสุขภาพดี กลับถูกประเมินว่ามีน้ำหนักเกินหลังการเกิดโรคระบาด ขณะที่เกือบ 16% ของผู้ที่เคยมีน้ำหนักเกิน ถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วน และทหารที่ถูกระบุว่าเป็นโรคอ้วนประมาณ 18% ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด สัดส่วนดังกล่าวเติบโตขึ้นไปเป็น 23% ภายในปี 2021
นักวิจัยได้ใช้มาตรฐาน BMI หรือดัชนีมวลกาย ซึ่งเป็นการคำนวณน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อจัดหมวดหมู่สถานะของน้ำหนักแต่ละประเภท ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 18.5 ถึง 25 จะถือว่ามีสุขภาพดี ในขณะที่ค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 25 ถึงน้อยกว่า 30 ถือว่ามีน้ำหนักเกิน และค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วน ผู้เชี่ยวชาญบางคนอ้างว่า ค่าดัชนีมวลกายเป็นการวัดที่มีข้อบกพร่อง เพราะไม่คำนึงถึงมวลกล้ามเนื้อ หรือสถานะด้านสุขภาพพื้นฐาน อย่างไรก็ดีดัชนีดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
ในกรณีของสิบโทมูริลโล ค่าดัชนีมวลกายของเขาในช่วงโควิดระบาดสูงเกือบ 32 ซึ่งภายหลังจากที่เขาปรึกษานักโภชนาการของกองทัพ และออกกำลังกายอย่างเคร่งครัดเป็นเวลาหลายเดือน ปัจจุบันนี้สิบโทมูริลโล มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 27 ซึ่งเขาบอกว่ายังคงเป็นตัวเลขที่เกินเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงกลาโหม
โคห์ลมูสกล่าวว่า การวิจัยมุ่งเน้นไปที่กองทัพบก แต่ก็พบว่ากองทัพอื่น ๆ ก็มีตัวเลขที่สูงขึ้นเช่นกัน สอดคล้องกับรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ที่เคยเตือนไว้ว่า ในปี 2020 เกือบ 1 ใน 5 ของทหารจะถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วน
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดกับทหารเท่านั้น การสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังจากปีแรกของการระบาดใหญ่ และอีกการศึกษาชี้ว่า โรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ตามรายงานของ CDC ระบุว่า สหรัฐฯ ได้เผชิญกับปัญหาโรคอ้วนในผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมากกว่า 40% และโรคอ้วนในเด็กเกือบ 20% ของประชากรสหรัฐฯ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ดร. เอมี รอธเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และเป็นผู้ดูแลโปรแกรมลดน้ำหนัก ชี้ว่า “ทำไมเราถึงคิดว่าทหาร แตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกองทัพ” เธอกล่าวว่าโรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่แค่กำลังใจเท่านั้น แต่กุญแจสำคัญคือต้องได้รับการดูแลอย่างรอบด้าน
รอธเบิร์ก กล่าวว่ายาลดความอ้วนที่มีประสิทธิภาพกลุ่มใหม่ ซึ่งรวมถึง เซมากลูไทด์ (semaglutide) มีชื่อทางการตลาดว่า Wegovy อาจเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพ สำหรับแผนสุขภาพ TRICARE ของกระทรวงกลาโหม แม้ว่าแผนสุขภาพข้างต้นจะครอบคลุมตัวยาดังกล่าว อย่างไรก็ตามพบว่ามีการใช้งานที่ค่อนข้างต่ำ ยา Wegovy จากบริษัทยา Novo Nordisk ได้รับการอนุมัติตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2021 แต่มีนายทหารที่ได้รับการจ่ายยาดังกล่าว เพียงแค่ 174 รายเท่านั้น
ที่มา: เอพี
- READ MORE