การศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ยุคหินนีแอนเดอร์ทาลได้ก่อตั้งชุมชนเล็ก ๆ ใกล้ ๆ กัน ในขณะที่ผู้หญิงอาจจะเป็นฝ่ายย้ายไปอยู่กับคู่ของตนมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว
การวิจัยดังกล่าวใช้การตรวจสอบทางพันธุกรรมเพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของมนุษย์ยุคหินนีแอนเดอร์ทาล ซึ่งรวมถึงดีเอ็นเอของมนุษย์ผู้เป็นพ่อและลูกสาวที่อาศัยอยู่ในไซบีเรียเมื่อกว่า 50,000 ปีก่อน
นักวิจัยสามารถดึง DNA ออกจากชิ้นส่วนกระดูกเล็ก ๆ ที่พบในถ้ำสองแห่งของรัสเซียได้ ในการศึกษาของพวกเขาที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature ได้มีการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อสร้างแผนผังความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นีแอนเดอร์ทาล 13 คน และหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของพวกเขา
เบนเซ วิโอลา (Bence Viola) จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งเป็นผู้ช่วยเขียนการศึกษานี้กล่าวว่า “ในขณะที่กำลังศึกษากระดูกหนึ่งหรือสองชิ้น จะเป็นเรื่องง่ายมากที่จะลืมว่ากระดูกนั้น ๆ เป็นของคนที่มีชีวิตและมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง” และว่า “การพยายามศึกษาว่ากระดูกเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทำให้รู้สึกว่ากระดูกมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น”
นีแอนเดอร์ทาลซึ่งเป็นวงศาคณาญาติของมนุษย์เราในสมัยโบราณ อาศัยอยู่ทั่วทวีปยุโรปและเอเชียเป็นเวลาหลายแสนปี จากนั้นก็สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 40,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังจากที่เผ่าพันธุ์ โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) ของมนุษย์เรา เดินทางจากแอฟริกามาถึงยุโรป
นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะสามารถศึกษา DNA ของมนุษย์ในยุคแรก ๆ เหล่านี้ได้เมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้ชนะรางวัลโนเบลคนใหม่ สวอนเต พาเอโบ (Svante Paabo) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนของการศึกษาฉบับล่าสุดนี้ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งแรกของจีโนมมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
ลอริทส์ สกอฟ (Laurits Skov) จากสถาบัน Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology ซึ่งเป็นหัวหน้าในการเขียนรายงานกล่าวว่า ตั้งแต่เป็นต้นนั้นมา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้จัดลำดับจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลทั้ง 18 คน
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะพบกระดูกจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลหลาย ๆ คนจากช่วงเวลาและสถานที่เดียวกัน ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ทำให้การค้นพบถ้ำเหล่านี้มีความพิเศษมาก ซึ่งสกอฟบอกว่าอาจจะเป็นชุมชนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลก็เป็นได้
วิโอลา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าวว่า ถ้ำเหล่านี้ตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือแม่น้ำในหุบเขา เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่เครื่องมือหินไปจนถึงชิ้นส่วนฟอสซิล ซึ่งมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลอาจใช้ถ้ำเป็นจุดล่าสัตว์ และว่า นักวิจัยที่เข้าไปขุดในถ้ำพบซากมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลอย่างน้อย 12 คน ซากเหล่านี้มักจะถูกพบแบบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่นกระดูกนิ้วมือ หรือกระดูกฟัน แต่ก็เพียงพอสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถเก็บรายละเอียดดีเอ็นเอที่จำเป็นต่อการศึกษาได้
ทั้งนี้ นักวิจัยสามารถระบุเครือญาติในกลุ่มของกระดูกที่ทำการศึกษาได้ รวมถึงพ่อและลูกสาวและญาติอีกสองคนด้วย
โดยรวมแล้ว จากการศึกษาพบว่ากระดูกของมนุษย์ยุคหินทุกคนในกลุ่มมี DNA ที่เหมือนกันจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยในบริเวณนี้ มนุษย์นีแอนเดอร์ทาลเคยอาศัยอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่มีคน อยู่ 10 ถึง 20 คน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนในกลุ่มเหล่านี้จะอยู่ด้วยกันเสมอไป
นอกจากนี้แล้ว นักวิจัยยังศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมอื่น ๆ จาก DNA ไมโตคอนเดรียซึ่งส่งต่อไปยังฝ่ายมารดา และโครโมโซม Y ซึ่งส่งต่อไปยังฝ่ายบิดา
สกอฟกล่าวว่า ฝ่ายหญิงมีความแตกต่างทางพันธุกรรมมากกว่าฝ่ายชาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงอาจย้ายถิ่นฐานไปมามากกว่าผู้ชาย เป็นไปได้ว่าเมื่อมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลเพศหญิงพบคู่ครอง เธอจะออกจากบ้านเพื่อไปอยู่กับครอบครัวของเขา
จอห์น ฮ็อคส์ (John Hawks) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า การวิจัยนี้เป็นการใช้หลักฐานดีเอ็นเอโบราณได้อย่างน่าตื่นเต้น แม้ว่าจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมและวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคหินนีแอนเดอร์ทาลก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การศึกษาว่ามนุษย์ในยุคแรก ๆ มีชีวิตอยู่อย่างไรนั้น เปรียบเสมือนกับ "การไขปริศนาที่นำเอาชิ้นส่วนหลาย ๆ ชิ้นปะติดปะต่อกัน" แต่การศึกษานี้หมายความว่าจำเป็นต้องมีชิ้นส่วนเพิ่มเติมมากขึ้น
ที่มา: เอพี
- READ MORE