Search
 
NEWS
 

วิเคราะห์: ตกลงอเมริกาจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่?

 
 
กูรูทางเศรษฐกิจต่างออกโรงเตือนให้จับตาภาวะเศรษฐกิจอเมริกันมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วว่ากำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถ้าไม่ใช่ไตรมาสนี้ ก็ไตรมาสหน้า หรือไม่ก็ปีหน้า แล้วตอนนี้เศรษฐกิจอเมริกันอยู่จุดไหนกันแน่? คำถามที่หลายคนรอคำตอบก็คือ อเมริกามีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่? สัญญาณล่าสุดต่างชี้ว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าจะมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่อัดยาแรงในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่การที่ทิศทางเศรษฐกิจอเมริกันยังสามารถเติบโตต่อได้ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนต่างเชื่อว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะชะลอตัวลงแบบ “soft landing” หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแต่การชะลอตัวไม่มากเกินไปจนนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบ เกรเกอรี เดโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทด้านภาษีและที่ปรึกษาการเงิน EY ให้ทัศนะกับเอพีว่า “เศรษฐกิจอเมริกาแสดงสัญญาณของการปรับตัวหลายอย่าง” และสิ่งนี้จะนำไปสู่คำถามที่แท้จริงที่ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดการณ์ในระยะยาวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ หรือมีโอกาสชะลอตัวลงแบบ soft landing นักวิเคราะห์เล็งไปที่แนวโน้ม 2 อย่างที่จะช่วยป้องกันการหดตัวทางเศรษฐกิจได้ บ้างก็ว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะเผชิญกับภาวะ “rolling recession” ที่อุตสาหกรรมบางอย่างจะหดตัว ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมจะไม่ได้รับผลกระทบ บางส่วนคิดว่าอเมริกาจะเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า “richcession” คือ มีการปรับลดพนักงานครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการเงินที่ให้ค่าตอบแทนสูง มุ่งเน้นการปลดพนักงานในกลุ่มมีทักษะสูงที่มักจะมีกันชนทางการเงินในการรองรับการปลดพนักงานเหล่านี้ได้ ซึ่งการปลดพนักงานในลักษณะนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมถดถอยลงได้น้อยกว่า สำนักข่าวเอพีวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอเมริกันไว้ 3 แบบด้วยกัน:   อเมริกาจมอยู่กับภาวะผลัดกันถดถอย หรือ Rolling Recession ภาวะ Rolling Recession หรือ ภาวะถดถอยหมุนเวียน ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเศรษฐกิจผลัดกันหดตัว แต่ยังมีบางส่วนขยายตัวต่อไปได้ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังหลีกหนีภาวะถดถอยเต็มสูบได้อยู่ อย่างกรณีล่าสุดในอเมริกา คือ ตลาดบ้านเป็นกลุ่มแรกที่เผชิญผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 15 เดือนมานี้ เมื่อต้นทุนการกู้ยืมสำหรับสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ยอดขายบ้านก็ลดลงอย่างหนัก ซึ่งตอนนี้ยอดขายบ้านลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายต่อไปที่ต้องจับตาคือภาคการผลิต ซึ่งแม้จะยังไม่แย่เท่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ยอดการผลิตในอุตสาหกรรมร่วงลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว ฤดูใบไม้ที่ผลิในปีนี้ คือ การผลัดใบของตำแหน่งงานในภาคเทคโนโลยีเช่นกัน โดยผลพวงจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ชาวอเมริกันใช้เวลาลดลงในโลกออนไลน์และกลับไปเข็นรถเข็นจับจ่ายตามห้างนำไปสู่การปรับลดพนักงานในบริษัทเทคโนโลยี ในเวลาเดียวกันนี้ ผู้บริโภคอเมริกันเพิ่มการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและความบันเทิง หนุนภาคบริการให้เติบโตชดเชยภาคส่วนอื่น ๆ ที่ตกต่ำ แต่กว่าจะถึงเวลาที่เงินเก็บเพื่อการท่องเที่ยวและจับจ่ายขาวชาวอเมริกันจะหมดไป ตลาดบ้านก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาได้เพียงพอที่จะรับไม้ต่อในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอเมริกันได้แล้ว เพราะเริ่มเห็นสัญญาณว่าภาคส่วนนี้กำลังฟื้นตัวขึ้น จากยอดขายบ้านใหม่ที่ดีดตัว 12% ในเดือนพฤษภาคม สวนกระแสดอกเบี้ยสูงและราคาบ้านที่สูงขึ้นมากจากระดับก่อนโควิด นอกจากนี้ กฤษณา กุฮา นักวิเคราะห์ Evercore ISI ที่ชี้ว่า ยังมีภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคการศึกษา ภาครัฐ และธุรกิจด้านสุขภาพ ที่ยังคงเติบโตได้และไม่อ่อนไหวตามทิศทางของดอกเบี้ยจะช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอเมริกันต่อไป และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงแบบ soft landing “เราคิดว่าภาวะถดถอยแบบ Rolling Recession จะเป็นภาพใหญ่สำหรับเศรษฐกิจอเมริกา”   ‘Richcession’ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชนชั้นกลางรายได้สูงสะเทือนหนัก จริงอยู่ที่ว่าการปลดพนักงานล็อตใหญ่ที่เริ่มต้นเมื่อปลายปีก่อนเน้นไปที่แรงงานค่าแรงสูง แต่ชาวอเมริกันผู้มีอันจะกินก็ไม่ได้ทุกข์ระทมจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ รูปแบบภาวะถดถอยแบบ ‘Richcession’ หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ชนชั้นกลางรายได้สูงสะเทือนหนัก จะแตกต่างจากที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะถดถอยทั่วไป ในแง่ที่ว่า งานที่ค่าตอบแทนต่ำกว่า อย่างร้านอาหารและค้าปลีก จะเป็นกลุ่มแรกที่ตกงานและการปลดพนักงานจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ... ร้านอาหาร ผับบาร์ และโรงแรมในอเมริกาเปิดรับพนักงานต่อเนื่อง และขับเคลื่อนตลาดแรงงานอเมริกาในขณะนี้เสียด้วย และเรื่องที่เซอร์ไพรส์ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานอย่างหนึ่งก็คือ บริษัทก่อสร้างยังคงจ้างคนงานเพิ่มแม้ดอกเบี้ยจะสูงอยู่ก็ตาม แต่การปลดพนักงานกลับเกิดขึ้นกับคนงานในสำนักงานและแรงงานค่าตอบแทนสูง เช่น อูเบอร์ปลดคนงาน 200 ตำแหน่งในแผนกเฟ้นหาพนักงานใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรับฮับปลดพนักงานในองค์กร 400 ตำแหน่ง บริษัทด้านการเงินและสื่อก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดีและมีแนวโน้มจะหางานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์ ทอม บาร์คิน ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ เขตริชมอนด์ เปิดเผยกับเอพีว่า แรงงานทักษะและรายได้สูงมักมีเงินเก็บออมพร้อมสำหรับการตกงานเสมอ ทำให้พวกเขาสามารถใช้จ่ายกลับเข้าในระบบเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลนี้การสูญเสียตำแหน่งงานในฝ่ายสำนักงานและบริหารจะไม่ทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนอ่อนแอลงเท่ากับกลุ่มแรงงานที่ค่าตอบแทนต่ำกว่า “มันง่ายที่จะคิดว่านี่อาจเป็นรูปแบบของการชะลอตัวลงแบบ soft landing ของตลาดแรงงานอย่างหนึ่ง ... ที่มีผลกระทบที่แตกต่าง ทั้งในแง่ความต้องการแรงงานและอัตราการว่างงาน ที่แตกต่างจากตลาดแรงงานที่อ่อนแอโดยทั่วไป”   อเมริกาอาจรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักเศรษฐศาสตร์ที่คิดในแง่บวกส่วนใหญ่ เริ่มมองว่า มีความหวังมากขึ้นว่าอเมริกาจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แม้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปในระดับสูงสุดในอีกไม่กี่เดือนจากนี้ก็ตาม พวกเขาชี้ให้เห็นถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดหลายอย่าง อย่างเช่นการจ้างงานที่แข็งแกร่ง นายจ้างเพิ่มการจ้างงานตำแหน่งใหม่เกือบ 300,000 ตำแหน่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานอเมริกายังอยู่ที่ 3.7% ซึ่งใกล้ถึงจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ ยังเห็นว่าภัยคุกคามเศรษฐกิจก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กังวล หรือยังไม่ถือกำเนิดขึ้นเลย อย่างเช่น ประเด็นพิพาทเรื่องเพดานหนี้ที่ทำให้อเมริกาหวิดผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก็คลี่คลายโดยไม่กระทบตลาดเงินและเศรษฐกิจแต่อย่างใด หรือผลกระทบจากปัญหาแบงค์ล้มเมื่อต้นปีก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจอเมริกันอ่อนแอลงเช่นกัน แจน แฮตซิอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก โกลด์แมน แซกส์ บอกกับเอพีว่า โอกาสที่ความเสี่ยงเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจอเมริกันถดถอยในระยะ 12 เดือนข้างหน้านั้น เหลือเพียง 25% จากระดับ 35% ที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ปัจจัยเสี่ยงยังคงมีอยู่สำหรับเศรษฐกิจอเมริกัน ทั้งการที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งต่อจากนี้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ นั่นยังเป็นเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเต็มรูปแบบอาจยังคงเกิดขึ้นได้สำหรับอเมริกา ที่มา: เอพี - READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Thu, 29 Jun 2023 04:57:47 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
8+2 =