แนวคิดการใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เท่านั้นแล้ว แต่ยังอาจดำเนินต่อไปได้แม้หลังเราจากโลกใบนี้แล้วก็ได้
นักประดิษฐ์ชาวดัตช์ผู้หนึ่งท้าทายขนบเดิม ๆ โดยการสร้าง "โลงศพ" จากไมซีเลียม (mycelium) ที่เป็นโครงสร้างรากใยเห็ด ผสมกับใยของข้าวสาลี โดยนำส่วนผสมทั้งหมดนี้ไปอัดไว้ในแม่พิมพ์ที่จัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษ และรอราวหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้ได้โลงบรรจุศพลักษณะคล้ายกับโลงหินสถาปัตยกรรมอียิปต์ที่ยังไม่ได้ลงสี
ปกตินั้น โลงไม้ทั่วไปทำมาจากต้นไม้ที่ใช้ระยะเวลาเติบโตนานหลายสิบปี และเมื่อฝังในดินไปแล้ว ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการย่อยสลาย แต่โลงบรรจุศพที่ทำมาจากใยเห็ดเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยใช้เวลาเพียงเกือบ ๆ หนึ่งเดือนครึ่งในการย่อยสลาย
ในศตวรรษที่ 21 ที่ความคิดด้านจิตวิญญาณได้เติบโตและก้าวล้ำไปกว่าแบบแผนจากสมัยก่อน แต่เรื่องของความตายและพิธีศพยังคงอยู่ภายใต้กรอบจารีตประเพณีที่อาจจะไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผู้เสียชีวิตหรือผู้อันเป็นที่รักที่จากโลกนี้ไป
ชอว์น แฮร์ริส นักลงทุนจากสหรัฐฯ ที่ลงทุนในบริษัท Loop Biotech ผู้ผลิตโลงบรรจุศพแบบย่อยสลายด้วยชีวภาพ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่า “เรามาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน และมีความต้องการที่จะฝังร่างลงบนโลกใบนี้ที่ไม่เหมือนกัน แต่ผมเชื่อว่า มีคนจำนวนมาก และน่าจะเป็นสัดส่วนที่เยอะมาก อยากที่จะทำ (ฝังร่าง) ในแบบที่ต่างออกไป ซึ่งวิธีคร่ำครึแบบเดิม ๆ ได้ดำเนินมาแล้ว 50 ถึง 100 ปี”
ด้วยจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใส่ใจเป็นพิเศษต่อธรรมชาติที่เป็นหัวใจหลักในสังคม บริษัท Loop Biotech กล่าวว่า พวกเขามีคำตอบสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนในวงจรนี้ ทั้งยังอาจใกล้เคียงกับความเชื่อของหลายคนด้วย
บ็อบ เฮนดริคซ์ วัย 29 ปี ผู้ริเริ่ม “โลงศพจากใยเห็ด” สวมเสื้อยืดที่เขียนว่า “ตัวฉันย่อยสลายได้” ขึ้นนำเสนอแนวคิดของโครงการนี้ โดยเล่าว่า ตนได้ทำการค้นคว้าอย่างละเอียดจนพบว่าเห็ดต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ตัวทำรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในโลก และว่า “ผมเลยคิดว่า ‘ทำไมเราถึงไม่เข้าไปอยู่ในวงจรนั้นล่ะ’ ก่อนจะตัดสินใจปลูกโลงศพที่มีโครงพื้นฐานมาจากเห็ด” ซึ่งสามารถทำการตกแต่งด้วยพืชตระกูลมอสสีเขียวสำหรับพิธีฝังได้ด้วย
และสำหรับผู้ที่เลือกจะพิธีเผาศพ Loop Biotech ได้คิดคนโกศจากใยเห็ดสำหรับเก็บเถ้ากระดูกที่สามารถนำไปฝังดินได้ โดยโกศดังกล่าวจะมีต้นอ่อนแซมอยู่ ดังนั้น เมื่อโกศย่อยสลายไป เถ้ากระดูกภายในก็จะช่วยหล่อเลี้ยงให้ต้นอ่อนนั้นเติบใหญ่เป็นต้นไม้ต่อไป
บ็อบ เฮนดริคซ์ ระบุในการสัมภาษณ์ด้วยว่า “แทนที่เมื่อเราตายไป ฝังดินแล้วก็แค่นั้น ตอนนี้เป็นเรื่องใหม่ หลังความตายจะมีความหมายมากขึ้น คุณจะเติบโตต่อไปในฐานะของพืชและต้นไม้ มันเป็นเส้นเรื่องใหม่ ที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวของเราเอง”
สำหรับสนนราคาของโลงศพจากใยเห็ด ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1,070 ดอลลาร์ (37,000 บาท) ขณะที่ โกศจากใยเห็ดมีราคาอยู่ที่ 212 ดอลลาร์ (7,320 บาท)
และเพื่อให้ตรงตามจุดมุ่งหมายการเป็นมิตรต่อธรรมชาติ บริษัท Loop Biotech ได้ร่วมมือกับสถานฝังศพแบบธรรมชาติ Natuurbegraven Nederland ซึ่งมีสวนที่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 6 แห่งเพื่อใช้ในการฝังศพ
ปัจจุบัน บริษัท Loop Biotech มีความสามารถในการ "ปลูก" โลงศพหรือโกศ จำนวน 500 ชิ้นต่อเดือน และกำลังจัดส่งไปทั่วทั้งยุโรป โดย เฮนดริคซ์ กล่าวว่า สินค้านี้ได้รับความนิยมพอสมควรในภูมิภาคยุโรปเหนือ
เขายังอธิบายว่า “ประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือมีความตระหนักมากกว่าในเรื่องสิ่งแวดล้อมและยังเป็นประเทศที่มีฤดูใบไม้ร่วง ดังนั้น พวกเขาจึงรู้และเข้าใจเรื่องเห็ด วิธีการทำงานของพวกมัน และรู้ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอย่างไร"
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE